วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

มาตรา 206 ความรับผิดเกี่ยวกับศาสนา

มาตรา  ๒๐๖ “เหยียดหยามศาสนา”
  ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด  อันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้น  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี  หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
องค์ประกอบภายนอก   (๑) ผู้ใด (ผู้กระทำ)
 (๒) กระทำด้วยประการใดๆ (การกระทำ)
  (๓) แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด (วัตถุแห่งการกระทำ)
  (๔) อันเป็นการเหยียดหยามศาสนา (องค์ประกอบภายนอกซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง
แต่เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ)
องค์ประกอบภายใน   เจตนา (ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล)
(๓) แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด
วัตถุ - หมายถึงสิ่งที่เคลื่อนที่ได้ เช่น พระพุทธรูป ไม้กางเขน ซึ่งเป็นที่เคารพทางศาสนา
สถาน - สิ่งที่ติดกับที่ดิน เช่น โบสถ์ เจดีย์ สุเหร่า ซึ่งเป็นที่เคารพทางศาสนาศาสนาของหมู่ชน - หมู่ชนจะเป็นจำนวนมากหรือน้อยก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ และไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศาสนาใด
๔)องค์ประกอบภายนอกซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง
หมายความว่า
การกระทำจะเป็นการเหยียดหยามหรือไม่ ให้ใช้มาตรฐานของวิญญูชน ไม่ต้องคำนึงถึงความรู้ของผู้กระทำ ผู้กระทำจะอ้างว่าไม่รู้ว่าเป็นการเหยียดหยามจึงไม่มีเจตนาเหยียดหยามไม่ได้
หากวิญญูชนเห็นว่าการกระทำเป็นการเหยียดหยาม ก็ครบองค์ประกอบความผิด
แต่ถ้าวิญญูชนเห็นว่าไม่เป็นการเหยียดหยาม ผู้กระทำก็ไม่มีความผิดเลย
ตัวอย่าง นายจิมชาวต่างประเทศเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ไม่รู้ว่าวัตถุชิ้นหนึ่งในวัดคือพระพุทธรูป
จึงเอามือลูบเศียรพระพุทธรูปเพื่อให้ช่างถ่ายภาพ นายจิมไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของมาตรา ๒๐๖ จึงขาดเจตนา
แต่ถ้านายจิมรู้อยู่แล้วว่าวัตถุชิ้นนั้นคือพระพุทธรูปอันเป็นที่เคารพของพุทธศาสนิกชน
แต่ไม่รู้ว่าการที่เอามือลูบเศียรพระพุทธรูปเป็นการเหยียดหยามศาสนา
นายจิมก็มีความผิดตามมาตรา ๒๐๖
เพราะการกระทำเช่นนั้นวิญญูชนเห็นว่าเป็นการเหยียดหยามศาสนาแล้ว
การกระทำที่ไม่เป็นความผิด
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๓๖/๒๕๐๕ พระภิกษุร่วมประเวณีกับหญิงในกุฏิพระ “กุฏิพระ” ไม่ใช่สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนา จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๒๐๖
การกระทำที่เป็นความผิด
คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๔๖/๒๔๘๓ การขุดทำลายเจดีย์วัดร้างเพื่อหาทรัพย์และลักพระพุทธรูป เป็นการกระทำต่อสถานที่อันเป็นที่เคารพในทางศาสนา อันเป็นการเหยียดหยามศาสนา
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๐๗/๒๕๕๐   จำเลยแต่งกายเป็นพระภิกษุ ยืนอยู่ระหว่างพระพุทธรูปปางห้ามญาติและรูปปั้นหลวงปู่แหวน โดยเท้าข้างหนึ่งยืนอยู่บนฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ และทำท่ายกมือขวาขึ้นเช่นเดียวกับพระพุทธรูปปางห้ามญาติและมีผู้ถ่ายรูปไว้ ต่อมาหนังสือพิมพ์ข่าวสดได้นำภาพถ่ายของจำเลยที่แสดงท่าทางดังกล่าวลงพิมพ์เผยแพร่ คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระพุทธรูปเป็นที่เคารพสักการะในทางศาสนาของประชาชนผู้นับถือศาสนาพุทธทั่วไป จำเลยแต่งกายเป็นพระภิกษุแล้วใช้เท้าข้างหนึ่งยืนอยู่บนฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ โดยเท้าจำเลยอยู่บนส่วนหนึ่งของพระบาทพระพุทธรูป ยกมือขวาขึ้นเลียนแบบพระพุทธรูป ส่วนใบหน้าของจำเลยแสดงท่าทางล้อเลียน ถลึกตาอ้าปากเช่นนี้ นอกจากเป็นการไม่เคารพต่อพระพุทธรูปแล้ว จำเลยยังได้แสดงตนเสมอกับพระพุทะรูป จึงเป็นการกระทำอันไม่สมควร และเป็นหารดูหมิ่นเหยียดหยามพระพุทธศาสนา จำเลยมีความผิดตามมาตรา ๒๐๖
มาตรา  ๒๐๗ ความผิดฐานก่อการวุ่นวายในที่ประชุมศาสนิกชน  ผู้ใดก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชน���วลาประชุมกัน  นมัสการ  หรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนาใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี  หรือปรับไม่เกินสองพันบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
องค์ประกอบภายนอก   (๑) ผู้ใด
 (๒)ก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้น
 (๓) ในที่ประชุมศาสนิกชน เวลาประชุมกันนมัสการ หรือกระทำพิธีกรรมทางศาสนาใดๆโดยชอบด้วยกฎหมาย
องค์ประกอบภายใน   เจตนา
การวุ่นวาย....การกระทำต้องมีผล  คือ การวุ่นวายเกิดขึ้น
ความวุ่นวายต้องเกิดขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชนซึ่งจะกี่คนก็ได้
แต่หมายความว่า หลายคนประชุม นมัสการ หรือกระทำพิธีกรรม ผู้ที่วุ่นวายคือผู้กระทำ
ความวุ่นวายต้องเกิดขึ้นในเวลาประชุม เช่น ขณะกำลังสวดมนต์ไหว้พระ ขณะทำพิธีบวช เผาหรือฝังศพ (ประชุมกันกระทำพิธีกรรม)
ฎีกาที่ ๑๑๐๙/๒๕๐๐  การแห่นาคไปตามถนนหลวง เป็นการกระทำตามประเพณีนิยมของบางชนหมู่ ยังไม่ถึงขั้นพิธีกรรมทางศาสนา เป็นการสนุกสนานตามประสาชาวบ้าน มีผู้เมาสุราชักมีดไล่แทงคนในขบวนแห่ และใช้น้ำโคลนสกปรกสาดเข้าไป ทำให้วุ่นวายแตกตื่นยังไม่ผิดมาตรา ๒๐๗
 (แต่ถ้าแห่นาคเข้าไปในวัดกำลังเวียนรอบโบสถ์ คงถือว่าเป็นพิธีกรรมทางศาสนาได้แล้ว)
ฎีกาที่ ๓๙๒/๒๕๐๐ ชาวบ้านแห่ต้นดอกไม้และปราสาทผึ้งขึ้นไปบนกุฏิพระในวัด เพื่อถวายตามพิธีกรรมทางพุทธศาสนา จำเลยเมาสุราขึ้นไปบนกุฏิด่าพระภิกษุและหยิบปราสาทผึ้งมาเตะเล่นข้างล่างกุฏิ ถือว่าเกิดการวุ่นวายแล้ว จำเลยผิดมาตรานี้
มาตรา ๒๐๘ แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายเลียนแบบพระ หรือนักบวช
 ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ  สามเณร  นักพรต หรือนักบวชในศาสนาใดโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่���ว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี  หรือปรับไม่เกินสองพันบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
องค์ประกอบภายนอก   (๑) ผู้ใด
(๒)แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นพระภิกษุ สามเณร นักพรต
หรือนักบวชในศาสนาใด โดยมิชอบ
องค์ประกอบภายใน  (๑) เจตนา
  (๒) เจตนาพิเศษ
“เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่า ตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น”
ภิกษุ สามเณร  หมายถึงผู้บวชในพุทธศาสนาตามกฎหมาย (พ.ร.บ.คณะสงฆ์)
นักพรต นักบวช คือ ผู้บวชในศาสนาอื่น
“เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่า ตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น”  เป็นเจตนาพิเศษ  หากขาดเจตนาพิเศษ การกระทำก็ไม่เป็นความผิด เช่นโกนศีรษะสวมจีวรในการแสดงภาพยนตร์ เป็นต้น
ฎีกาที่ ๔๔๙๙/๒๕๓๙   คณะสงฆ์ชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ให้จำเลยสึกจากการเป็นพระภิกษุ จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะสงฆ์ และกลับมาแต่งกายเป็นพระภิกษุอีก เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นพระภิกษุ จำเลยมีความผิดตามมาตรา ๒๐๘
ฎีกาที่ ๓๖๙๙-๓๗๓๙/๒๕๔๑   พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๒๓ กำหนดให้การแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม เมื่อจำเลยไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์
แต่ทำพิธีบวชให้ผู้อื่น การบวชจึงไม่ชอบตามกฎพระมหาเถรสมาคม และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ผู้รับการบวชจึงไม่มีสิทธิแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ต้องมีความผิดตามมาตรา ๒๐๘ จำเลยซึ่งเป็นผู้บวชให้และทำหน้าที่เป็นพระผู้รับนำเข้าหมู่ เป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา ๒๐๘, ๘๖
ฎีกาที่ ๑๗๙๘/๒๕๔๒   พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๒๙ การสละสมณเพศเพราะถูกจับในข้อหาคดีอาญาแยกได้เป็น ๓ กรณี คือ ๑.เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวและเจ้าอาวาสไม่ยอมรับตัวไว้ควบคุม พนักงานสอบสวนดำเนินการให้สละสมณเพศได้ ๒. พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเห็นว่าไม่ควรปล่อยชั่วคราวและไม่ควรมอบตัวให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม ก็ดำเนินการให้สละสมณเพศได้ และ ๓.
พระภิกษุรูปนั้นไม่ได้สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งหรือเป็นพระจรจัด ก็ดำเนินการให้สละสมณเพศได้  กรณีของจำเลยปรากฏว่าร้อยตำรวจโท ส. นำจำเลยไปพบพระ ท. เจ้าอาวาสวัดและมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะและพระภิกษุผู้ใหญ่อีกหลายรูปเพื่อทำการสอบสวนจำเลยแล้ว ไม่ได้ความชัดว่าจำเลยจำพรรษาและสังกัดวัดใด จำเลยได้ยินยอมสึกจากการเป็นพระภิกษุโดยทำการเปลื้องจีวรออกแล้วแต่งกายด้วยชุดขาว จึงถือได้ว่าจำเลยได้สละสมณเพศแล้วในขณะนั้น ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ มาตรา ๒๙ การที่จำเลยอ้างว่ายอมเปลื้องจีวรออกเพื่อต่อสู้คดี ไม่เป็นเหตุให้จำเลยซึ่งได้สละสมณเพศแล้วกลับมาเป็นพระภิกษุใหม่อีก ดังนั้น เมื่อภายหลังจำเลยกลับมาแต่งกายเป็นพระภิกษุเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นพระภิกษุ การกระทำจึงเป็นความผิดตามมาตรา ๒๐๘
ฎีกาที่ ๖๗๘๒/๒๕๔๓ พระภิกษุถูกจับในข้อหามีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทไว้ในครอบครอง เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการให้สละสมณเพศตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ มาตรา ๒๙ ให้ไว้ ในคดีนี้ เจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยพนมมือต่อหน้าพระพุทธรูป ซึ่งอยู่บนสถานีตำรวจและกล่าวคำว่า “ข้าพเจ้าขอลาสึกก่อน” และจำเลยถอดสบงและจีวรแล้วใส่เสื้อผ้าอื่นที่ตำรวจจัดหาให้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปควบคุมไว้ ต่อมาจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจึงได้แต่งกายเป็นพระภิกษุอีก ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยย่อมเข้าใจว่าตนยังไม่ขาดจากความเป็นพระภิกษุ เนื่องจากไม่สมัครใจลาสิกขาบท และเข้าใจว่าเจ้าพนักงานตำรวจกระทำโดยพละการ จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดตามม.๒๐๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น