วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

มาตรา 136 ความผิดต่อเจ้าพนักงาน

ความผิดต่อเจ้าพนักงาน
มาตรา 136 ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
- ความหมายคำว่า "ดูหมิ่น"
- อ จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายว่า ดูหมิ่น” คือ ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอายเสียหาย สบประมาท หรือด่า ไม่เพียงแต่คำหยาบคาย ไม่สุภาพ คำแดกดัน คำสาปแช่ง หรือคำขู่อาฆาต ต่างกับหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ซึ่งเป็นการใส่ความทำให้ผู้ถูกใส่ความเสียหาย และการดูหมิ่นลดคุณค่าของผู้ถูกดูหมิ่นลงโดยไม่ต้องกล่าวต่อบุคคลที่สาม
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4327/2540 การกระทำอันเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 คือ ดูหมิ่น” ซึ่งหมายถึงการด่า ดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอาย ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อ ข. เจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ว่า “แน่จริงมึงถอดเสื้อมาต่อยกับกูเลย” เป็นการกล่าวท้าทายให้ ข. ออกมาต่อสู้กับจำเลย เป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นที่พอจะให้เข้าใจว่าจำเลยมีความมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาทให้ ข. อับอายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136
- "เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่"
- คำพิพากษาฎีกาที่ 421/2499 เพียงแต่จำเลยแสดงกิริยาวาจาต่อผู้เสียหายว่า "พี่ณรงค์เรามาจับมือประกาศเป็นศัตรูกันตั้งแต่วันนี้ไปจนตลอดชีวิตพร้อมกับยื่นมือไปขอจับด้วยดังนี้ เป็นแต่เพียงจำเลยประกาศตัวเป็นศัตรู คือเลิกความเป็นมิตร ยังเรียกไม่ได้ว่าแสดงอาฆาตมาดร้าย / ผู้เสียหายเป็นนายกเทศมนตรี เกี่ยวกับทางหลวงผู้เสียหาย คงมีหน้าที่ระวังไม่ให้รุกล้ำถนนหลวงและคูเมืองเท่านั้น เมื่อส่งคนงานไปวัดที่ดินของผู้อื่น อันเป็นเหตุให้จำเลยโกรธ กล่าวคำหมิ่นประมาท ดังนี้จำเลยหามีความผิดฐานหมิ่นประมาทเจ้าพนักงานไม่ เพราะที่ผู้เสียหายสั่งไปนั้นเ ป็นการนอกอำนาจและหน้าที่
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1551/2503 ถ้าเป็นการนอกหน้าที่แล้ว กรณีหาเข้ามาตรานี้ไม่
- คำพิพากษาฎีกาที่ 920/2508 จำเลยไปพูดขอประกันผู้ต้องหา เป็นการส่วนตัว ขณะพนักงานสอบสวนกำลังกินข้าวที่บ้านพัก ถือไม่ได้ว่าจำเลยดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เพราะได้กระทำการตามหน้าที่ แต่เป็นการข่มขืนใจ ให้เจ้าพนักงานสั่งประกัน อันมิชอบด้วยหน้าที่ ผิด ม 139
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2113/2516 การที่กำนันใช้ให้บุคคลอื่น ไปตามบุตรสาวจำเลยมาไกล่เกลี่ย แบ่งทรัพย์สินกันระหว่างสามีภริยา มิใช่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของกำนัน ตาม พรบ ลักษณะปกครองท้องที่ จำเลยกล่าววาจาดูหมิ่นกำนัน ไม่ผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
- คำพิพากษาฎีกาที่ 2256/2537 จำเลยและผู้เสียหายที่ 1 ได้พบผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้ช่วยเจรจาไกล่เกี่ยวกรณีพิพาทเรื่องการกู้ยืมเงินจำเลยได้พูดว่าผู้เสียหายที่ 1 ต่อหน้าผู้เสียหายที่ 2 และบุคคลอื่นว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้หญิงต่ำ ๆ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาว่าผู้เสียหายที่ 1 ว่าเป็นผู้หญิงไม่ดีมีศักดิ์ศรีต่ำกว่าผู้หญิงทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นคำพูดที่เหยียดหยามผู้เสียหายที่ 1 เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งหน้าแล้ว หาใช่เป็นเพียงคำพูดในเชิงปรารภปรับทุกข์ไม่ แต่ที่จำเลยพูดพาดพิงถึงผู้เสียหายที่ 2 ว่า "มันก็เข้าข้างกัน" ไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เพราะผู้เสียหายที่ 2 มีหน้าที่ทางอาญา หาได้เกี่ยวกับกรณีพิพาททางแพ่งไม่ แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะได้ทำการไกล่เกลี่ยเรื่องทางแพ่งให้ และจัดการลงบันทึกประจำวันไว้ ก็หาใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรงตามกฎหมายไม่
- ถ้อยคำและพฤติการณ์ อันเป็นการดูหมิ่น
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1519/2500 “ผมผิดแค่นี้ใคร ๆ ก็ผิดได้ ทำไมมาว่าผม อย่างคุณจะเอาผม ไปคุณถอดเครื่องแบบมาชกกับผมตัวต่อตัวดีกว่า” กริยาและถ้อยคำท้าทายเช่นนี้ เป็นการดูถูกดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1183/2503 ตำรวจจับจำเลยขณะลักเล่นการพนัน จำเลยพูดว่า ตำรวจล้วงเอาเงินส่วนตัวในกระเป๋าของจำเลยไป พูดซ้ำกันหลายครั้ง โดยไม่เป็นความจริง ดังนี้เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะกระทำการตามหน้าที่
- คำพิพากษาฎีกาที่ 637/2504 การที่จำเลยไม่หลีกทางให้รถยนต์ตำรวจ ซึ่งบีบแตรขอทาง เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ ทั้งยังกล่าวว่า "รถยนต์ตำรวจกลัวแม่มันหยัง" ซึ่งหมายความว่า "รถยนต์ตำรวจ กลัวแม่มันทำไม" นั้น นอกจากเป็นคำหยาบคาย ไม่สมควรกล่าวต่อเจ้าพนักงานผู้กำลังกระทำตามหน้าที่ แล้วยังเป็นถ้อยคำกล่าวเหยียดหยามดูถูกหมิ่นเจ้าพนักงาน ขณะกำลังกระทำตามหน้าที่ด้วย ผิดตาม มาตรา 136
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1081/2505 เจ้าพนักงานตำรวจจราจรจับจำเลยในข้อหาฐานขับรถรับจ้างคนโดยสารเกินจำนวน มีรถยนต์ส่วนบุคคลคันหนึ่งบรรทุกคนวิ่งผ่านไป จำเลยกล่าวว่า"รถคันนี้ทำไมไม่จับ คนก็แน่นเหมือนกันหรือจะแกล้งจับเฉพาะผมคนเดียวเท่านั้น จราจรลำพูนไม่ให้ความยุติธรรม" ดังนี้ แสดงว่าจำเลยกล่าวโดยตั้งใจ เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานตาม มาตรา 136
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1735/2506 จำเลยกล่าวต่อเจ้าพนักงานตำรวจจราจร ขณะกระทำการตามหน้าที่จับรถยนต์จำเลยฐานกีดขวางทางจราจรว่า "ลื้อชุ่ยมาก" เป็นความผิดตาม มาตรา 136 แล้ว
- คำพิพากษาฎีกาที่ 623/2508 จำเลยชี้หน้าและว่าเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติการตามหน้าที่ว่า "ปลัดนิกรนี้จะเป็นบ้าหรืออย่างไร มาขัดขวางกลั่นแกล้ง จำเลยทำงานไป โดยเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ให้ความเป็นธรรม พยายามกลั่นแกล้งจำเลยคนเดียว พยายามกลั่นแกล้งจำเลยมาหลายครั้งแล้ว" ถ้อยคำและกิริยาเช่นนี้เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ตาม มาตรา 136 การกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการกล่าวในลักษณะต่อว่าด้วยการสุจริตที่จะยกขึ้นอ้างให้พ้นผิด
- คำพิพากษาฎีกาที่ 862/2508 จำเลยว่าเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติการตามหน้าที่ว่า "ตำรวจเฮงซวย ถือว่ามีอำนาจก็ทำไปตามอำนาจ จะต้องให้เจอดีเสียบ้าง" ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวนี้ เป็นการกล่าวสบประมาทผู้เสียหาย ขณะปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงเป็นคำที่แสดงการดูหมิ่นเจ้าพนักงานตาม มาตรา 136
- คำพิพากษาฎีกาที่ 316/2517 ถ้อยคำว่า "อ้ายจ่า ถ้ามึงจับกู กูจะเอามึงออก" ซึ่งจำเลยกล่าวต่อจ่าสิบตำรวจ ในขณะที่จะเข้าจับกุมจำเลย อันเป็นปฏิบัติการตามหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นถ้อยคำที่กล่าวสบประมาท เหยียดหยาม และข่มขู่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นมิให้จับกุมจำเลย เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ มิใช่เป็นเพียงการประท้วงการกระทำของเจ้าพนักงาน
- คำพิพากษาฎีกาที่ 347/2519 นายตำรวจไม่รับแจ้งความเรื่องสุนัขกัดหลานจำเลย จำเลยกล่าวต่อนายตำรวจว่า ทำอย่างนี้ไม่ยุติธรรม ดังนี้ เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม ไม่ใช่ต่อว่าแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียตามคลองธรรม เป็นความผิด ม.136
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1985/2521 (สบฎ เน 5617) จำเลยกล่าวว่า "ด่านตำรวจนี้ เท่ารูหีประกอบพฤติการณ์ที่ยื่นหน้าตะโกนออกมานอกรถ "มุ่งถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยิ่งกว่าสถานที่อาจเป็นผิด มาตรา 136
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1541/2522 จ่า ฯ ตำรวจจับจำเลยฐานวางหาบเกะกะ ทางเท้าให้จำเลยไปคอยที่สถานีตำรวจพอตำรวจไปถึง จำเลยว่า "ลื้อจับแบบนี้แกล้งจับอั๊วนี่หว่า ไม่เป็นไร ไว้เจอกันเมื่อไรก็ได้" ยังเป็นการอยู่ระหว่างจับกุม เป็นการดูหมิ่นตาม มาตรา 136
- คำพิพากษาฎีกาที่ 930/2526 ตำรวจผู้เสียหายจับกุมผู้ขับรถยนต์บรรทุกสินค้าควบคุมออกนอกเขตควบคุมโดยมิได้รับอนุญาต จำเลยมาดูของกลางแล้วพูดว่า ของเหล่านี้ตำรวจคุมมาเองแล้วยังจับกุม ผู้เสียหายถามว่าตำรวจที่คุมเป็นใคร จำเลยชี้หน้าผู้เสียหายและพูดว่า มึงนั่นและเป็นคนนั่งคุมที่หน้ารถไปแล้วมาจับกุม ดังนี้ เมื่อจำเลยรู้อยู่แล้วว่าผู้เสียหายขับขี่รถจักรยานยนต์ตามหลังรถยนต์บรรทุกไป หาได้นั่งคุมไม่ และผู้เสียหายก็ได้จับกุมผู้กระทำผิดตามหน้าที่ ข้อความที่จำเลยกล่าวจึงไม่เป็นความจริง ถือได้ว่าจำเลยกล่าวโดยเจตนาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยกล่าวข้อความดังกล่าวโดยสุจริตหรือไม่ จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา136
- คำพิพากษาฎีกาที่ 501/2537 เมื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย จำเลยกล่าวกับผู้เสียหายว่า เป็นนายจับอย่างไรก็ได้ และเรียกทำเย็ดแม่ ดังนี้ที่จำเลยกล่าวว่า เป็นนายจับอย่างไรก็ได้ เป็นเพียงคำกล่าวในทำนองตัดพ้อต่อว่า ไม่ได้กล่าวหาว่าผู้เสียหายกลั่นแกล้ง จึงไม่เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย แต่ที่จำเลยกล่าวว่า เรียกทำเย็ดแม่ เป็นคำด่าอันเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 136
- ถ้อยคำและพฤติการณ์ อันไม่เป็นการดูหมิ่น
- คำพิพากษาฎีกาที่ 106/2506 กล่าวถ้อยคำว่านายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ด้วยความน้อยใจ และมีอารมณ์โกรธ เนื่องจากถูกนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาล พูดเป็นทำนองไล่ อันเป็นการไม่สมควร เพราะเป็นการขาดคารวะ แต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท (ดูย่อเต็ม)
- คำพิพากษาฎีกาที่ 713/2519 กล่าวว่า "พวกมึงตำรวจไม่มีความหมายสำหรับกู อยากจะจับก็มาจับเลย ในเมื่อกูไม่ได้กระทำผิด" เป็นคำพูดที่ไม่สุภาพ แต่ไม่เป็นดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
- คำพิพากษาฎีกาที่ 860/2521 (สบฎ เน 5617) จำเลยกล่าวว่า "คุณเป็นนายอำเภอได้อย่างไร ไม่รับผิดชอบไม่ได้กล่าวโดยเมาสุรา หรือทุบโต๊ะชวนวิวาท เป็นแต่คำไม่สุภาพ ไม่ถึงดูหมิ่นตาม มาตรา 136
- คำพิพากษาฎีกาที่ 420/2529 พล.ตำรวจ ม.เรียกให้แท็กซี่ที่จำเลยนั่งมาหยุด เพื่อตรวจจำเลยพูดว่า ด่านจริง หรือด่านผี ม.ว่าด่านจริง และชี้ไปที่ ร.ต.ท. ป.โจทก์ร่วมว่าเป็นหัวหน้าด่าน หากสงสัยสอบถามหัวหน้าด่านได้ จำเลยพูดว่าแค่ร้อยตำรวจโทนั้นกระจอก ไม่อยากคุยด้วยหรอก ดังนี้ เป็นแต่คำพูดที่ไม่สุภาพ หาใช่เป็นคำด่าหรือเป็นการสบประมาทเหยียดหยามโจทก์ร่วม ให้ได้รับความอับอายแต่ประการใดไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 136
- คำพิพากษาฎีกาที่ 786/2532 จำเลยที่ 1 กล่าวแก่เจ้าพนักงานสรรพสามิตซึ่งทำการจับกุม อ. ผู้ต้องหาว่า "โคตรแม่มึงเวลาเขาลักขโมยควายไป 2-3 วัน ตามหาไม่เจอเวลามีสุราทำไมจับเร็วนัก พวกคุณมาสร้างปัญหา คุณไม่ต้องมามองหน้าผมหรอก คุณเป็นหัวหน้าส่วนกระจอก ๆ ผมไม่กลัวคุณหรอก ใหญ่กว่านี้ผมก็ไม่กลัว" เป็นการพูดเปรยขึ้นมาเพื่อประชดประชันว่า ทำไมเรื่องสุราจับเร็วนัก และเป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพ มิใช่เป็นการสบประมาทเหยียดหยามดูหมิ่นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่
- คำพิพากษาฎีกาที่ 4529/2536 หลังจากผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสรรพสามิตยึดสุราของจำเลยไปแล้ว จำเลยตามไปที่ห้องเปรียบเทียบปรับกรมสรรพสามิตจำเลยพูดกับผู้เสียหายว่า พวกมึงเก่งแต่จับเหล้า ไปต่อยกับกูข้างนอกไหม เป็นคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควร เป็นการพูดเปรย เพื่อประชดประชันผู้เสียหาย โดยเจตนาท้าทายให้ออกไปชกต่อยกับจำเลย หาใช่เป็นการเหยียดหยามดูหมิ่น
- การกระทำที่มีเหตุจูงใจจากข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 329 ใช้ยกเว้นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานได้
- คำพิพากษาฎีกาที่ 402/2496 ..ลักษณะอาญามาตรา 285 นั้น เป็นบทยกเว้นโทษให้แก่คู่ความ เพื่อเปิดโอกาศให้คู่ความได้ดำเนินคดีได้เต็มที่ และเป็นข้อยกเว้นโทษของมาตรา 116 ด้วย ถ้าการหมิ่นประมาทเจ้าพนักงานตามมาตรา 116 นั้น มีมูลฐานมาจากความผิดตามมาตรา 282. /จำเลยแก้อุทธรณ์ที่อัยการโจทก์อุทธรณ์ แม้ถ้อยคำที่จำเลยใช้ในคำแก้อุทธรณ์นั้น จะไม่สมควรหลายแห่ง แต่เมื่อยังเป็นเรื่องที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 285 แล้ว จำเลยก็ยังไม่ผิด
- การปรับบทความผิด กับข้อหาความผิดอื่น
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1650/2514 จำเลยร่วมกันจัดพิมพ์เอกสารสิ่งพิมพ์ ซึ่งมีข้อความบางตอนกล่าวในทำนองตำหนิศาลอาญา ศาลอุทธรณ์ และผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีที่จำเลยถูกฟ้องว่า พิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่ยึดหลักกฎหมายและความยุติธรรม ไม่เป็นที่พึ่งของประชาชน นับว่าเป็นการกระทำที่แสดงต่อศาล หรือผู้พิพากษาในทางที่ลดคุณค่าของศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 / เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 แล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 อีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น