วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

กฏหมายไทยกับเสรีภาพทางสังคม

หากประเมินสถานการณ์ในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น รวมทั้งเสรีภาพสื่อสารมวลชนกันอย่างจริงจังแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ดังกล่าวอยู่ในระดับหน้าเป็นห่วง เพราะนับเนื่องจากกลางสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลคมช.ภายหลังการทำรัฐประหาร รัฐบาลสมัคร-สมชาย กระทั่งรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สื่อมวลชน ทั้งกระแสหลักและกระแสรอง รวมถึงช่องทางในการติดต่อสื่อสารส่วนบุคคลหรือส่วนกลุ่มคนรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ SMS จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเครือข่ายสังคม (Social Network) อย่างเฟสบุ๊ค (Facebook) หรือทวิตเตอร์ (Twitter) ล้วนแล้วแต่ถูกหรือเคยถูกแทรกแซง สอดส่อง ปิดกั้นควบคุมโดยฝ่ายรัฐมาแล้วทั้งสิ้น

ถ้าพิจารณากันในระดับบทบัญญัติ ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ "สื่อสารมวลชน" อยู่ด้วยกันหลายฉบับ โดยกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐใช้มาตรการในการปิดกั้นการเข้าถึงสื่อ แม้ในช่วงที่ประเทศไทยไม่ได้ตกอยู่ในสถานการณ์พิเศษใด ๆ นั้น ปรากฏเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 คือ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 (มาตรา 9)1 จากนั้นในปี พ.ศ. 2530 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมทั้งการดำเนินการ รูปแบบการประกอบการ รวมทั้งเนื้อหาของสิ่งที่จะนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ก็มีบทมาตราที่ให้อำนาจรัฐ สั่งห้ามมิให้มีการให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ในสถานที่ให้บริการใดบริการหนึ่งได้ (มาตรา 30) อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ด้วยผลของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ทำให้พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ดังกล่าว รวมทั้งพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 (ซึ่งเคยมี มาตรา 4 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐห้ามฉาย หรือแสดงภาพยนตร์ใด ๆ ที่ขัดต่อความสงบฯ) ถูกยกเลิกไป แม้กฎหมายฉบับใหม่นี้จะมีเจตนารมณ์แรกที่มุ่งเน้นไปที่การจัด "ระดับความเหมาะสม" ของเนื้อหาในภาพยนตร์หรือวีดีทัศน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญานในการเลือกชมด้วยตนเอง แต่ในท้ายที่สุด ก็กลับยังปรากฏบทมาตราที่ให้ดุลพินิจอย่างเต็มที่แก่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดีทัศน์ ที่จะตัดสินใจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ภาพยนตร์หรือวีดีทัศน์ฉาย หรือแสดงในราชอาณาจักรได้อยู่นั่นเอง

กฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน ก็คือ พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 ซึ่งเคยให้อำนาจรัฐในการยึด หรือห้ามการใช้เครื่องรับวิทยุกระจายเสียง หรือเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ได้ ด้วยคำอธิบายว่า เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือป้องกันราชอาณาจักร แต่กฎหมายฉบับนี้ถูกยกเลิกไปแล้วเช่นกันโดยผลของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 แม้จะได้มีการปรับปรุงเนื้อหาในกฎหมายฉบับใหม่นี้ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ประกอบกับลดลักษณะการผูกขาดการสื่อสารผ่านวิทยุและโทรทัศน์ลง แต่บทมาตราที่เกี่ยวกับการควบคุมเนื้อหา หรือบทบัญญัติที่เปิดโอกาสให้รัฐแทรกแซงสื่อทั้งสองประเภทนี้ก็ยังคงปรากฏอยู่ (มาตรา 35 และ มาตรา 37) สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนฉบับที่เพิ่งได้รับการบัญญัติขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เพื่อใช้กับสื่อรูปแบบใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต และทั้งมีบทให้อำนาจรัฐในการปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาด้วย ก็คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

อย่างไรก็ตาม หากนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจประกาศให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือภาวะการณ์พิเศษอื่น ๆ ซึ่งจะยังผลให้ฝ่ายรัฐสามารถใช้กฎหมายพิเศษเพื่อบังคับกับสถานกาแลรณ์ และจำกัดสิทธิเสรีภาพในหลาย ๆ เรื่องของประชาชนได้ บทบัญญัติให้อำนาจรัฐระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร จะประกอบไปด้วยกฎหมายลายลักษณ์อักษรอีกอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ทั้งหมดนี้ยังมิพักได้พูดถึงบทกำหนดโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญาที่ว่าด้วยความผิดต่อเกียรติยศ และชื่อเสียงอย่างความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความผิดในฐาน "หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์" ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งได้กลายเป็นฐานความผิดยอดนิยมที่ใครต่อใคร ไม่เฉพาะแต่รัฐเท่านั้นที่ฉวยใช้เป็นเครื่องมือในการเล่นงานผู้มีความคิดเห็นต่างจากฝ่ายตน คดีความที่เกี่ยวกับข้อหานี้เพิ่มจำนวนขึ้นมากในช่วงสามปีที่ผ่านมา  ในขณะที่มีสถิติเว็บไซต์ และเครือข่ายออนไลน์อีกจำนวนมหาศาลถูกปิดกั้นการเข้าถึงโดยอ้างเหตุผลในการต้องรักษา "ความมั่นคงของสถาบัน"   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น